การตรวจ HIV ทุกวันนี้เป็นเรื่องที่ง่ายมาก ไม่ว่าจะเป็นการไปตรวจที่สถานพยาบาล หรือการตรวจตามคลินิกเฉพาะทางต่างๆ ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องรอผลนานหลายวันอีกต่อไปแล้ว การตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสเอชไอวี หรือการตรวจเอดส์อย่างที่ใครหลายคนเรียก นั้นอยากให้เข้าใจเสียใหม่ว่า HIV กับ AIDS ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน เนื่องจากผู้ติดเชื้อ HIV ไม่ได้เป็นผู้ป่วย AIDS เสมอไป หากมีการตรวจ HIV แล้วพบเชื้อก่อนตั้งแต่เนิ่นๆ ผู้ติดเชื้อเข้าสู่กระบวนการรักษาได้รวดเร็ว ไม่เจ็บป่วย ไม่ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน มีสุขภาพที่ดี และสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนทั่วไป ก่อนอื่น เราควรรู้จักกับเชื้อ HIV กันก่อนดีกว่าครับ
HIV เป็นอย่างไร
HIV (Human Immunodeficiency Virus) คือ ไวรัสชนิดหนึ่งที่เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้ว จะเข้าไปทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาว ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมนุษย์บกพร่อง ทำให้เกิดภาวะไม่สามารถต่อต้านโรคร้ายต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ และยังเป็นการเปิดโอกาสให้โรคฉวยโอกาสเข้ามาทำร้ายร่างกายได้โดยง่าย เช่น โรควัณโรคปอด มะเร็งต่อมน้ำเหลือง โรคทางสมอง ซึ่งอาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต ถ้าไม่ได้ตรวจพบและทำการรักษาตั้งแต่แรก
HIV ติดต่อได้ผ่านช่องทางไหน
ใจความหลักของการแพร่เชื้อที่เราเน้นย้ำ คือ 3 ช่องทางนี้เท่านั้น ส่วนความเสี่ยงเป็นเรื่องที่แพทย์จะต้องประเมินและซักประวัติผู้ตรวจ HIV อีกครั้ง เพื่อพิจารณาว่ามีโอกาสติดเชื้อ HIV หรือไม่ ดังนี้
- HIV ติดต่อทางเลือด
- HIV ติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- HIV ติดต่อผ่านแม่สู่ลูก
ถ้าติด HIV จะมีอาการอย่างไร
เราไม่อาจบอกได้ว่าใครติด หรือไม่ติดเอชไอวี เพราะผู้ที่มีเชื้อแทบไม่มีอาการแสดงออกให้เห็นเลย การจะรู้ได้ว่ามีเชื้อเอชไอวี จะต้องทำการเจาะเลือดตรวจเท่านั้น แต่ในบางรายก็อาจมีสัญญาณเตือนบางอย่างที่ตัวเราเองสังเกตได้ ในระยะแรกที่มีการติดเชื้อ HIV ดังนี้
- รู้สึกหนาวสั่น มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามร่างกาย
- มีอาการไอติดต่อกันหลายสัปดาห์
- รู้สึกเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย
- ผิวหนังเป็นผื่น ผิวหนังอักเสบ หรือมีรอยฟกช้ำเป็นจุด
- ต่อมน้ำเหลืองโต และมีเหงื่อออกมากผิดปกติ โดยเฉพาะในเวลากลางคืน
การตรวจ HIV มีกี่วิธี
การตรวจ HIV ด้วยการหา Antigen ของเชื้อ (HIV p24 Antigen Testing)
- เป็นการตรวจหาโปรตีนของเชื้อที่มีชื่อว่า p24 ซึ่งนิยมใช้ตรวจการติดเชื้อ HIV ในระยะแรกที่ผู้มีความเสี่ยงได้รับเชื้อมาแต่ร่างกายยังไม่ทันสร้างระบบภูมิคุ้มกันมาต่อต้านเชื้อไวรัสเอชไอวี (Antibody) หรือมีระดับ Antibody ที่ต่ำมาก จนไม่สามารถตรวจพบได้ วิธีการตรวจ HIV รูปแบบนี้จะตรวจได้ภายหลังมีความเสี่ยงตั้งแต่ 14 วันขึ้นไป
การตรวจ HIV ด้วยการหา Antibody ที่จำเพาะต่อเชื้อ (Anti-HIV Testing)
- เป็นวิธีที่นิยมใช้ในการตรวจคัดกรองการติดเชื้อ HIV ในปัจจุบัน วิธีการตรวจ HIV รูปแบบนี้จะตรวจได้ภายหลังมีความเสี่ยงตั้งแต่ 21 วันขึ้นไป
การตรวจ HIV ด้วยการหา Antigen และ Antibody ของเชื้อ (HIV Ag/Ab Combination Assay Testing)
- หรือมักจะเรียกกันอย่างแพร่หลายว่า เป็นการตรวจแบบน้ำยา Gen 4th (Fourth Generation) ซึ่งสถานพยาบาลทั่วไปมักใช้การตรวจ HIV ด้วยน้ำยาประเภทนี้ เพื่อตรวจคัดกรองผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งจะตรวจได้ภายหลังมีความเสี่ยงตั้งแต่ 14 วันขึ้นไป เหมือนวิธีแรกแต่มีความแม่นยำสูงกว่า
การตรวจ HIV ด้วยการหาสารพันธุกรรมของเชื้อ (Nucleic Acid Test : NAT)
- เป็นการตรวจ HIV ที่มีความไวมากที่สุด สามารถตรวจได้ภายหลังมีความเสี่ยงตั้งแต่ 5-7 วัน ในทางการแพทย์ส่วนใหญ่จะใช้วิธีนี้ตรวจคัดกรองเชื้อ HIV ในผู้บริจาคโลหิต
ก่อนทำการตรวจ HIV ต้องเตรียมตัวอย่างไร
- เลือกสถานพยาบาล : แนะนำให้เลือกสถานที่ตรวจ HIV ที่คุณเดินทางสะดวก หรือมีการบริการที่ได้มาตรฐาน คุณไม่จำเป็นต้องขาดเรียน หรือลางานทั้งวัน เพราะการตรวจ HIV ในสมัยนี้สามารถรู้ผลเลือดได้ภายในวันเดียว
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ : นอนให้เพียงพอ ไม่ต้องคิดกังวลหรือเครียดไปก่อน เพราะหากคุณศึกษาข้อมูลเรื่อง HIV จะพบว่ามันไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดและยังมียาที่ควบคุมเชื้อได้ดี
- ไม่จำเป็นต้องงดน้ำหรืออาหาร : การตรวจ HIV ไม่ต้องงดน้ำ หรืออาหารเหมือนอย่างการเจาะเลือดตรวจปริมาณน้ำตาล ไขมันในเลือด และไม่ได้ใช้เลือดในปริมาณที่มาก คุณจะเลือกตรวจตอนไหนก็ได้ที่สะดวก
- แพทย์จะมีการซักประวัติความเสี่ยง : ก่อนการเจาะเลือด แพทย์จะทำการซักประวัติความเสี่ยง พฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์ ประวัติทางกามโรค คุณควรให้ข้อมูลกับแพทย์อย่างชัดเจน ไม่ต้องเขินอายเพราะข้อมูลส่วนตัวของผู้ตรวจจะถูกเก็บไว้เป็นความลับเฉพาะแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น
- เจาะเลือดตรวจ : เริ่มทำการเจาะเลือดตรวจ
- ให้คำแนะนำก่อนฟังผล : หลังทำการเจาะเลือดเสร็จเรียบร้อยแล้ว แพทย์จะให้คำแนะนำก่อนรับฟังผลเลือด เพื่อประเมินสภาพจิตใจของผู้ตรวจ และอธิบายถึงความหมายของผลตรวจแต่ละรูปแบบ ชี้แจงสาเหตุ รวมถึงข้อมูลเกี่ยวข้องกับไวรัสเอชไอวีทั้งหมด
- รอฟังผลตรวจ : บางสถานที่อาจแจ้งผลผ่านทางโทรศัพท์ หรืออีเมล์ส่วนตัว แต่ส่วนใหญ่มักจะแจ้งผลกับผู้ตรวจเลยหลังจากได้รับผลการตรวจจากห้องแล็บเรียบร้อยแล้ว
- ให้คำแนะนำหลังฟังผล : แพทย์อธิบายผลตรวจเลือด ความหมาย และแนะนำการวางแผนดูแลตัวเอง โดยผลตรวจหลักๆ ของการตรวจ HIV จะแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบดังนี้
- ผลเลือดลบ (Non-Reactive) หมายถึง ไม่มีเชื้อ HIV ในร่างกาย หรือตรวจไม่พบเชื้อ ซึ่งอาจอยู่ในระยะฟักตัวของ HIV จึงตรวจไม่พบ ในทางการแพทย์เรียกว่าเป็น “ผลลบลวง” ได้ซึ่งขึ้นอยู่กับวิธีการตรวจ HIV ที่เลือกตรวจด้วย หากแพทย์เห็นว่าควรทำการตรวจซ้ำอีกครั้ง เพื่อยืนยันผลให้ชัดเจน จะนัดผู้ตรวจให้กลับมาหลังจากนี้ 3-6 เดือน
- ผลเลือดบวก (Reactive) หมายถึง มีเชื้อ HIV ในร่างกาย หรือตรวจพบเชื้อ แพทย์จะให้คำแนะนำที่ถูกต้องในการรักษาและการดูแลตัวเอง รวมถึงส่งต่อผู้ป่วยเข้าสู่กระบวนการรักษาในขั้นตอนต่อไป
ข้อดีของการตรวจ HIV
- ได้รับความรู้เกี่ยวกับ HIV โรคเอดส์ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- หากไม่พบเชื้อ ก็จะเป็นการป้องกันตัวเองไม่ให้ติดเชื้อได้ตลอดไป
- หากพบเชื้อ ก็จะได้เริ่มต้นเข้าสู่กระบวนการรักษาได้ทันที ไม่ต้องรอให้เจ็บป่วย
- ช่วยให้คุณมีสุขภาพที่ดี ควบคุมเชื้อไวรัสได้ ไม่นำพาตัวเองเข้าสู่ภาวะโรคเอดส์
- เป็นการป้องกันคนที่คุณรักให้ปลอดภัยจากเชื้อ HIV
สิทธิการตรวจ HIV ของคนไทย
คนไทยทุกคน สามารถเข้ารับการตรวจ HIV ได้ฟรี ปีละ 2 ครั้งที่โรงพยาบาลภายใต้หลักประกันสุขภาพทั่วประเทศ หรือคลินิกเฉพาะทางด้าน HIV และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ค้นหาสถานที่ตรวจ HIV ได้ที่นี่ การตรวจ HIV ฟรีให้ยื่นบัตรประจำตัวประชาชน และแจ้งความประสงค์ขอตรวจ HIV ได้ที่เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์หรือส่วนลงทะเบียนของโรงพยาบาลได้เลย สำหรับน้องๆ นักเรียน นักศึกษาที่อายุไม่เกิน 18 ปีก็สามารถตรวจ HIV ได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องให้ผู้ปกครองเซ็นยินยอมก่อน เป็นการเอื้ออำนวยให้กลุ่มเสี่ยงที่ยังเป็นเยาวชนได้รับการตรวจ และการเข้าสู่กระบวนการรักษาที่รวดเร็วหากพบเชื้อ
การตรวจเอชไอวี ไม่ใช่เรื่องที่น่าอาย หรือเป็นเรื่องที่ต้องกลัวอย่างที่เข้าใจกันไปผิดๆ สิ่งที่ต้องกังวลมากกว่าการไปตรวจเลือดนั้น คือ การที่คุณไม่ทราบสถานะ HIV ของตัวเอง อันส่งผลเสียมากมายตามมา ไม่ว่าจะเป็น การแพร่เชื้อให้คนรักโดยไม่ได้ตั้งใจ การเข้าสู่กระบวนการรักษา HIV ที่ล่าช้า การเกิดโรคแทรกซ้อนที่ทำลายสุขภาพร่างกาย สุขภาพจิตใจ การหมดโอกาสในการใช้ชีวิตและทำในสิ่งที่คุณต้องการ เนื่องจากรู้ตัวเมื่อสายว่ามีเชื้อ HIV และนำพาตัวเองเข้าสู่ภาวะโรคเอดส์ได้ในที่สุด กล่าวคือ การตรวจเอชไอวีเท่ากับเป็นการป้องกันทั้งตัวคุณเอง คนที่คุณรัก และครอบครัวได้อีกด้วย มีข้อดีขนาดนี้ อย่าลืมไปตรวจ HIV กันสักครั้งนะครับ