หลายคนมีความกังวลใจหลังมีความเสี่ยง HIV มาแล้วพบว่าเกิดตุ่มขึ้นตามตัว จึงเข้าใจไปว่าตัวเองติดเชื้อเรียบร้อยแล้ว ซึ่งในความเป็นจริงนั้น ตุ่มขึ้นตามตัว เป็นลักษณะอาการที่ไม่อาจบ่งชี้ได้อย่างชัดเจนว่า คุณติดหรือไม่ติดเชื้อเอชไอวี เนื่องจากโรคนี้ในระยะแรกจะไม่แสดงอาการ ร่างกายยังดูปกติดีเหมือนคนที่ไม่มีเชื้ออยู่ แต่หากระยะของโรคดำเนินไปเรื่อยๆ โดยที่ผู้ป่วยไม่ได้ทำการรักษา ในที่สุดก็ทำให้เป็นระยะเอดส์ได้ และส่งผลเสียต่อร่างกาย เกิดอาการเจ็บป่วยและอาจเสียชีวิต
ตุ่มขึ้นตามตัว ในผู้ป่วย HIV เป็นอย่างไร
ลักษณะของอาการผู้ป่วยเอชไอวีที่ไม่ได้รับการรักษานั้น มักพบว่ามีผื่นแดงขนาดเล็ก หากสังเกตดูจะมีเลือดคั่งอยู่ภายในตุ่มนั้น รู้สึกคัน และเกิดบริเวณใบหน้า แขน ขา มือ เท้า และอาจพบเยื่อเมือกบนฝ่ามือฝ่าเท้าด้วย นอกจากนี้ ยังอาจมีอาการป่วยอื่นๆ ร่วม ดังต่อไปนี้
- ปวดศีรษะ มีไข้ ไอ เจ็บคอ
- ท้องเสีย ถ่ายเหลว น้ำหนักลด
- อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามร่างกาย
- มีเหงื่อออกมากในช่วงเวลากลางคืน
- ต่อมน้ำเหลืองโต มีฝ้าขาวในช่องปาก
- ตรวจพบว่าเป็นโรคงูสวัด หรือหูดข้าวสุก
ปัจจัยใดบ้าง? ที่อาจทำให้เราติด HIV
- มีเพศสัมพันธ์กับผู้อื่นโดยไม่สวมถุงยางอนามัย
- มีการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน ในกรณีผู้เสพยาเสพติด
- มีพฤติกรรมเปลี่ยนคู่นอนบ่อย หรือมีคู่นอนหลายคน
- ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างที่มีเพศสัมพันธ์จนขาดสติลืมป้องกันตัวเอง
- เคยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มาก่อนภายในระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา
- มีเพศสัมพันธ์และเกิดถุงยางอนามัยหลุด แตก ฉีกขาด หรือโดนล่วงละเมิดทางเพศ
ตุ่มขึ้นตามตัว ที่เกิดจากการติดเชื้อโรคอื่นๆ
ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี ไม่ค่อยมีอาการแสดงออกมาให้เห็นอย่างเด่นชัดนัก อีกทั้ง ตุ่มทั้งหลายก็เป็นอาการของโรคติดเชื้ออื่นๆ ได้ด้วยไม่ใช่เพียงแต่เฉพาะโรคเอดส์ ได้แก่
- โรคหูดข้าวสุก
- เกิดจากการติดเชื้อไวรัสมอลลัสคุมคอนทาจิโอซุม (Molluscum Contagiosum Virus) ที่ผิวหนังทำให้เกิดตุ่มสีเนื้อเล็กๆ สามารถพบได้ทุกส่วนบนร่างกาย ยกเว้นฝ่ามือและฝ่าเท้า และสามารถแพร่สู่ผู้อื่นได้ผ่านการสัมผัสผิวหนัง หรือการใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกัน ตุ่มอาจมีขนาดใหญ่ขึ้น และรักษายากขึ้น โดยเฉพาะในผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี การรักษาที่ดีที่สุด คือ การเสริมระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยให้ดีขึ้น
- โรคซิฟิลิส
- เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า ทริปโปนีมา พัลลิดุม (Treponema Pallidum) ในระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัยจะเสี่ยงกับการติดเชื้อได้มากที่สุด จึงถือเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หากไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้มีตุ่มผื่นขึ้นบริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้า หลังจากติดเชื้อนี้ประมาณ 2-8 สัปดาห์
- โรคงูสวัด
- เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดเดียวกับเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคอีสุกอีใส หากติดเชื้อแล้วไวรัสจะหลบอยู่บริเวณปมประสาทของร่างกาย และทำลายร่างกาย เมื่อสุขภาพมีความอ่อนแอจนเกิดเป็นงูสวัด แต่สามารถรักษาให้หายได้ หากพบแพทย์ไว ก็จะลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้
ทำอย่างไรเมื่อพบว่า ตุ่มขึ้นตามตัว
- ไปพบแพทย์เฉพาะทาง เพื่อทำการวินิจฉัยโรคที่ชัดเจน อย่าคาดเดาเอง
- ไม่ซื้อยามาทานหรือทาเอง เสี่ยงต่อการไม่หายจากโรค และดื้อยาในอนาคต
- หลีกเลี่ยงการแคะ แกะ เกา ตุ่มที่เกิดขึ้น เพื่อป้องกันการเกิดบาดแผลลุกลาม
- หากได้รับการรักษา ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และไปตามนัดทุกครั้ง
- อาบน้ำด้วยน้ำอุณหภูมิปกติ ไม่ควรอาบด้วยน้ำร้อนจัดหรือเย็นจัด เพื่อลดผิวแห้ง
อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมที่นี่
วิธีที่ดีที่สุดในการที่จะรู้ว่าตัวคุณเองติดเชื้อ HIV หรือไม่ คือการตัดสินใจไปตรวจเอชไอวีที่สถานพยาบาล การเจาะเลือดทำให้สามารถตรวจพบเชื้อไวรัสที่อยู่ในร่างกายได้ และช่วยให้คุณได้เข้าสู่กระบวนการรักษาทันที เพราะผู้ที่ติดเชื้อไม่อาจวัดจากอาการป่วยที่พบได้เลย มันไม่ได้หมายความว่าการมีตุ่มขึ้นตามตัว จะเท่ากับการเป็นโรคเอดส์ เพราะมันยังมีปัจจัยและองค์ประกอบอีกหลายอย่าง ควรเข้ารับคำแนะนำจากแพทย์เพื่อตรวจเลือดจะเป็นผลลัพธ์ที่แน่นอนและช่วยคลายความกังวลใจของคุณลงได้ครับ