แผลริมอ่อน | Chancroid

แผลริมอ่อน (Chancroid) โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่ง เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Haemophillus ducreyi สามารถแพร่เชื้อไปยังคู่นอนได้ระหว่างมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน ไม่ว่าจะเป็นทางช่องคลอด ทวารหนัก หรือทางปาก หากติดเชื้อแล้วจะทำให้เกิดเป็นแผลบริเวณอวัยวะเพศ บางครั้งเรียกว่า “โรคซิฟิลิสเทียม” เนื่องจากทำให้เกิดแผลได้เช่นกัน ต่างกันตรงที่

แผลริมอ่อน จะมีอาการเจ็บปวด และขอบแผลจะนิ่มอ่อน  
แต่ซิฟิลิส จะไม่มีอาการเจ็บปวด และขอบแผลจะแข็ง

แผลริมอ่อนสาเหตุเกิดจากอะไร ?

แผลริมอ่อน เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย (Haemophilus Ducreyi) แบคทีเรียชนิดนี้เป็นต้นเหตุของการเกิดแผลริมอ่อน สามารถติดต่อกันได้ผ่านทางเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน หรือการสัมผัสของเหลว สารคัดหลั่ง ของผู้ที่มีเชื้อชนิดนี้อยู่ก็สามารถทำให้ติดเชื้อได้ โดยเชื้อจะเข้าไปในร่างกาย หลังจากนั้นอาการมักเกิดขึ้น หลังได้รับเชื้อประมาณ 3 – 5 วัน

อาการแผลริมอ่อนเป็นอย่างไร

อาการแผลริมอ่อนเป็นอย่างไร ?

แผลริมอ่อนเกิดขึ้นได้ทั้งในเพศชายและเพศหญิง อาการอาจแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย ดังนี้

อาการในเพศชาย

เกิดตุ่มขอบนูน สีชมพูแดง ขึ้นบริเวณ อวัยวะเพศ ถุงอัณฑะ หนังหุ้มปลาย โดยแผลสามารถลุกลามเพิ่มขึ้น และเป็นแผลเปื่อยได้ จะรู้สึกปวดแสบปวดร้อน ขณะขับถ่าย หรือ มีเพศสัมพันธ์

อาการในเพศหญิง

จะมีตุ่มแดงนูนเช่นเดียวกับเพศชาย แต่ความแสบ จะมีอาการน้อยกว่า โดยตุ่มแผล จะสามารถพบได้มากบริเวณ ขาหนีบ ปากช่องคลอด แคมเล็ก มีตกขาวมากผิดปกติ มีกลิ่นแรง ซึ่งบางรายอาการในเพศหญิงจะแสดงออกไม่ชัดเจน ทำให้ผู้ป่วยเพศหญิงบางรายไม่รู้ว่าตนกำลังเป็นโรคนี้อยู่ ทำให้เชื้อสามารถแพร่กระจายไปยังคู่นอนของตนได้ง่าย

อาการของแผลริมอ่อน จะมีลักษณะคล้ายกับแผลจากโรคอื่นๆ ได้

  • ซิฟิลิส : ในระยะแรกที่เป็นแผลที่อวัยวะเพศ ลักษณะของขอบแผลจะเรียบและแข็ง เรียกว่า “แผลริมแข็ง” มักมีแผลเดียว แผลไม่เจ็บและคัน
  • เริม : จะมีผื่น ตุ่ม ขึ้นที่บริเวณอวัยวะเพศอยู่กันเป็นกลุ่ม ๆ จะมีอาการแสบ ๆ คัน ๆ นำมาก่อน ลักษณะเป็นตุ่มนูน ตุ่มน้ำ หรือแผลแดง ๆ
  • ฝีมะม่วง : จะมีตุ่มนูน ตุ่มใส หรือแผลขนาดเล็กเกิดขึ้นที่อวัยวะเพศ และหายไปได้เองภายใน 2-3 วัน ต่อมาจะมีต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบโตติดกัน

แผลริมอ่อนป้องกันได้อย่างไร ?

การป้องกันแผลริมอ่อน จะเป็นการป้องกันเหมือนกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ต่างๆ ได้แก่

  • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับคนที่มีแผลบริเวณอวัยวะเพศ
  • ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสแผลที่อวัยวะเพศ
  • หลีกเลี่ยงการใช้เข็มร่วมกับคนอื่น
  • ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน
การรักษาแผลริมอ่อน

การรักษาแผลริมอ่อน

แผลริมอ่อน สามารถรักษาให้หายขาดได้ ด้วยการรับประทานยาปฏิชีวนะให้ครบตามที่แพทย์สั่ง และไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงซ้ำ (หากรักษาไม่ครบจะทำให้เชื้อดื้อยา) ซึ่งแพทย์จะให้การรักษาด้วยยาขนานใดขนานหนึ่ง ดังต่อไปนี้

  • อะซิโทรมัยซิน (Azithromycin) ขนาด 1 กรัม โดยให้รับประทานเพียงครั้งเดียว
  • โอฟล็อกซาซิน (Ofloxacin) ขนาด 400 มิลลิกรัม โดยให้รับประทานเพียงครั้งเดียว
  • เซฟไตรอะโซน (Ceftriaxone) ขนาด 250 มิลลิกรัม ด้วยการฉีดเข้ากล้ามเพียงครั้งเดียว
  • อิริโทรมัยซิน (Erythromycin) ครั้งละ 500 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง นาน 7 วัน
  • ไซโพรฟล็อกซาซิน (Ciprofloxacin) ขนาด 500 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 3 วัน แต่ยานี้ห้ามใช้ในสตรีตั้งครรภ์และขณะให้นมบุตร

ดังนั้น เมื่อมีแผลเกิดขึ้นที่อวัยวะเพศ หรือมีต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบโต ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง เพราะแผลที่เกิดขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ เกิดได้จากหลายโรค ซึ่งอาจต้องใช้ยารักษาคนละชนิดกัน และถ้าใช้ยาไม่ถูกต้องก็อาจทำให้เชื้อดื้อยาได้

ขอบคุณข้อมูล : Medthai

อ่านบทความอื่นๆ เพิ่มเติม

แผลริมอ่อน สามารถพบเจอได้ทั้งในเพศชาย และเพศหญิง ติดต่อกันได้ง่าย ทำให้เกิดตุ่มนูนหรือเป็นแผลเล็กๆ บริเวณอวัยวะเพศ ทั้งนี้แผลริมอ่อนสามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการรับประทานยาปฏิชีวนะ ตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด แต่ถ้าหากไม่ได้รับรักษา แผลริมอ่อนก็จะเป็นอีกสาเหตุ ทำให้เกิดการติดเชื้อเอชไอวี ได้ง่าย

0
0